กัญชา กัญชง สู่พืชเศรษฐกิจใหม่

กัญชา กัญชง สู่พืชเศรษฐกิจใหม่

กัญชา กัญชง สู่พืชเศรษฐกิจใหม่

 

พืชเศรษฐกิจ (Economic Crop หรือ Cash Crop) ตามความหมายทั่วไป หมายถึง พืชที่ปลูกเพื่อสร้างรายได้ในลักษณะสัมมาชีพ ที่มักจะเป็นพืชที่ปลูกเพียงชนิดเดียว เรียกว่า พืชเดี่ยว (monocrop) ในพื้นที่เพาะปลูกขนาดกลางขึ้นไป และไม่ใช่พืชสวนครัว (Subsistence Crop) จัดเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ที่มีมาตรฐานเดียวหรือใกล้เคียงกันทั่วโลก (หรือในประเทศ) ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ผลิตก็ตาม เช่น ข้าวหอมมะลิ (Thai jasmine rice) ที่ผู้บริโภคข้าวทั่วโลก (หรือในประเทศ) จะเข้าใจทันทีว่า หมายถึงอะไร มีลักษณะอย่างไร ซื้อขายกันที่น้ำหนักเท่าไร เวลาอะไร เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม เมื่อพูดถึง “รถยนต์” จะพบว่าผู้ผลิตแต่ละรายผลิตรถยนต์ที่มีลักษณะ คุณภาพ และมาตรฐานแตกต่างกันมาก รถยนต์จึงไม่จัดเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ด้วยเหตุที่สินค้าโภคภัณฑ์มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก (หรือในประเทศ) ทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ถูกกำหนดโดยอุปสงค์และอุปทาน (demand and supply) ของตลาดโลก (หรือในประเทศ) ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (ซึ่งก็คือ พืชเศรษฐกิจ ในที่นี้) มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางหรือแนวโน้มเดียวกันทั่วโลก (หรือในประเทศ)

 

พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก เช่น ข้าว ข้าวสาลี (wheat) อ้อย ถั่วเหลือง (soybean) กาแฟ ตลอดจน กัญชา (cannabis) และ กัญชง (hemp หรือ industrial hemp)

 

พืชเศรษฐกิจ ตามความหมายของกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หมายถึง พืชที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต สามารถนำไปใช้ในการบริโภค อุปโภค เป็นแหล่งอาหารและพลังงานของมนุษย์และสัตว์ มีลักษณะเด่นทางการค้าทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ สามารถปลูกเป็นอาชีพ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและประเทศ

 

พืชเศรษฐกิจ ตามนัยแห่ง พระราชบัญญัติเศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ. ๒๕๒๒ หมายถึง พืชที่สร้างรายได้หลักให้แก่เกษตรกรในพื้นที่เพาะปลูกในเขตพื้นที่เกษตรกรรม (Agro Zoning) ที่ได้กำหนดขึ้นโดยคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน ด้วยเกณฑ์แบ่งเขตจาก ภูมิประเทศ ชนิดของดิน ภูมิอากาศ น้ำฝน อุณหภูมิ ชนิดของพืช ประเภทของฟาร์ม และรายได้หลักของเกษตรกร โดยอาศัยเส้นแบ่งเขตของจังหวัดเป็นแนวแบ่งเขตที่เรียกว่า “เขตเกษตรเศรษฐกิจ” (Agro-economic Zone) ที่ปัจจุบันแบ่งออกเป็น ๒๔ เขต เพื่อให้สามารถมีการวางแผนพัฒนาการเกษตรได้ในระยะยาว ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ทำให้การผลิตมีความเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ เช่น มันสำปะหลัง ข้าว ถือเป็นพืชเศรษฐกิจในเขตเศรษฐกิจที่ ๑-๕, ข้าว ข้าวโพด ถั่วเขียว ข้าวฟ่าง ถือเป็นพืชเศรษฐกิจในเขตเศรษฐกิจที่ ๗ และอื่นๆ ทั้งนี้การกำหนดพืชเศรษฐกิจจะเป็นไปตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฉบับต่างๆในเรื่องเขตที่เหมาะสมกับการปลูกพืชเศรษฐกิจนั้น  เช่น ประกาศเขตเหมาะสมต่อการปลูกพืช ปศุสัตว์และประมง ในระหว่างวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ถึง ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ พร้อมแผนที่ประกอบจำนวน ๒๐ ชนิดสินค้า ได้แก่ พืช ๑๓ ชนิด (ซึ่งก็คือ พืชเศรษฐกิจ) ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน ลำไย เงาะ ทุเรียน มังคุด มะพร้าว และกาแฟ และปศุสัตว์ ๕ ชนิด (ซึ่งก็คือ สัตว์เศรษฐกิจ) โคเนื้อ โคนม สุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่ และประมง ๒ ชนิด (ซึ่งก็คือ สัตว์น้ำเศรษฐกิจ) กุ้งทะเล และสัตว์น้ำจืด ทั้งมีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจอีกด้วย

 

พืชเศรษฐกิจ (และสัตว์เศรษฐกิจ และสัตว์น้ำเศรษฐกิจ) ตามนัยแห่งพระราชบัญญัติฯ จึงอาจมีจำนวนมากมายหลายชนิดในแต่ละเขตเกษตรเศรษฐกิจของจังหวัดนั้นๆ ทั้งพืชเศรษฐกิจอาจมีการเปลี่ยนแปลงย้ายถิ่นฐานการเพาะปลูกไปยังเขตเกษตรเศรษฐกิจอื่นได้ด้วยปัจจัยต่างๆ อาทิ อุปสงค์และอุปทาน ทำเลที่ตั้งโรงงาน แรงงาน กระทั่งสภาพพื้นดินที่เปลี่ยนไป เป็นต้น

 

พืชเศรษฐกิจ ตามความหมายทั่วไปและตามนัยแห่งพระราชบัญญัติฯ อาจขึ้นอยู่กับการสื่อสาร โดยอาจกล่าวหมายรวมถึง พืชเศรษฐกิจภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ หรือพืชเศรษฐกิจพอเพียง หรือพืชเศรษฐกิจหลัก หรือพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย หรือพืชเศรษฐกิจส่งออกของไทย ๕ อันดับแรก คือ ยางพารา ข้าว (ทั้งข้าวเจ้าขาวและข้าวหอมมะลิไทย) ทุเรียน ลำไย และสัปปะรด เป็นต้น

 

พืชเศรษฐกิจ ไม่ปรากฏคำนิยามขึ้นในพระราชบัญญัติเศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ. ๒๕๒๒ หรือกฎหมายอื่นๆ (ที่เพียงแต่บัญญัติคำนิยาม “เศรษฐกิจการเกษตร” และ “เขตเกษตรเศรษฐกิจ” ด้วยคำว่า “พืชเศรษฐกิจ” น่าจะเป็นคำที่สาธารณชนต่างเข้าใจกันเป็นอย่างดีแล้ว

 

 

กัญชา กัญชง สู่พืชเศรษฐกิจใหม่

 

หากต้องการส่งเสริมพืชชนิดใดในทุกด้าน ทั้งการศึกษา วิจัย และการปลูกหรืออื่นๆ เช่น กัญชา กัญชง ก็ควรให้ระบุพืชชนิดนี้เข้าไปในเขตเกษตรเศรษฐกิจของจังหวัดนั้นๆ (บางจังหวัดอาจไม่เหมาะสมที่จะระบุเข้าไปก็เป็นได้) ที่มีพระราชบัญญัติเศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ. ๒๕๒๒ บังคับใช้อยู่แล้ว

 

กัญชา กัญชง ตามความหมายทั่วไป ทุกคนเข้าใจว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทยในอนาคตอันใกล้ และหากมีประกาศฯทางราชการเกี่ยวกับพืชเศรษฐกิจใหม่นี้เข้าไปในเขตเกษตรเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดกระทั่งทุกจังหวัดทั่วประเทศที่เหมาะสมแล้ว ก็ทำให้กัญชา กัญชง ถูกจัดเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ได้อย่างสมบูรณ์ตามพระราชบัญญัติเศรษฐกิจการเกษตร พ.ศ. ๒๕๒๒

 

 

 

LINE ID: nvitoon

วิฑูร เนติวิวัฒน์

11 ธันวาคม 2563

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น

This site is registered on wpml.org as a development site.